รีวิวหนังสือ เพาะหุ้นเป็น เห็นผลยั่งยืน
หนังสือ เพาะหุ้นเป็น เห็นผลยั่งยืน เล่มนี้เขียนโดยคุณกวี ชูกิจเกษม นักลงทุนสไตล์ VI ท่านหนึ่ง – ผมรู้จักคุณกวีว่าเป็นนักวิเคราะห์ของหลักทรัพย์กสิกรไทยเพราะเห็นทางโทรทัศน์และ Facebook บ่อยๆ – ครั้งหนึ่งเคยไปนั่งฟังคุณกวีบรรยายที่กสิกรสำนักงานใหญ่ แถวซอยอารีย์ ซึ่งผมเองก็ประทับใจในการพูดของคุณกวีนะครับ (ตอนนั้นจำได้ว่าคุณกวีเชียร์เรื่อง DCA อยู่)
หนังสือเล่มนี้เป็นอีกหนึ่งเล่มที่อธิบายเกี่ยวกับการลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investor) โดยมุ่งเน้นในการหาบริษัทดีๆ ซื้อในราคาที่เหมาะสม (ถ้าจะให้ดีต้องราคาถูก) แล้วถือไปยาวๆ เป็น 10 ปี
ช่วงแรกของหนังสือเล่มนี้อ่านสนุกใช้ได้เลยครับ แต่ช่วงกลางเล่มที่เข้าสู่วิชาการ พร้อมยกตัวอย่างหุ้นที่ดี 9 ตัว อาจจะง่วงๆ มึนๆ นิดหน่อยนะครับ แต่ถ้าสามารถอ่านมาได้จนจบ เราก็จะได้อีกหนึ่งแนวคิดในการเลือกหุ้นพื้นฐานดีที่น่าสนใจกันเลยทีเดียวเชียวละครับแหม่
หนังสือเล่มนี้หนานประมาณ 200 หน้า เนื้อหาในหนังสือแบ่งออกเป็น 12 บท คือ
- รู้จักตัวตนของเราว่าเหมาะกับการลงทุนแบบไหน
- ปรับนิสัยก่อนลงทุน
- 6 ขั้นตอนสู่ความสำเร็จในการลงทุน (* นี่คือหัวใจของหนังสือเล่มนี้ครับ)
- ขั้นตอนที่ 1 – หาหุ้นบริษัทดีเข้าพอร์ต
- วิธีการหาบริษัทที่ดีไว้ลงทุนระยะยาว (** ใครที่อยากได้วิธีเลือกบริษัทที่ดี บทนี้มีคำตอบให้ครับ แต่บทนี้ก็จะวิชาการสักนิด)
- ขั้นตอนที่ 2 – ซื้อหุ้นเมื่อราคาถูก
- ขั้นตอนที่ 3 – กระจายความเสี่ยง / ลงทุนหุ้นในจำนวนที่เหมาะสม
- ขั้นตอนที่ 4 – ติดตามผลการดำเนินงานของบริษัทที่เรานำเงินไปลงทุนอย่างต่อเนื่อง
- ขั้นตอนที่ 5 – ลงทุนระยะยาว ก็ลดความเสี่ยงได้แล้ว
- ขั้นตอนที่ 6 – ศึกษาและค้นหาหุ้นดีอย่างต่อเนื่อง
- ยอมรับข้อจำกัด / ลงทุนอย่างมีวินัย
- ทำอย่างไรให้มีเงินซื้อหุ้นตลอด
สรุปเนื้อหา
(หมายเหตุ: เนื้อหาสรุปบางส่วน ผมมีเพื่อเติมโน้ตของผมเองเข้าไปด้วยนะครับ)
รู้จักตัวตนของเราว่าเหมาะกับการลงทุนแบบไหน
- สไตล์การลงทุนมี 2 แบบ คือ นักเก็งกำไร และ นักลงทุน
- นักเก็งกำไรแบ่งได้ 2 ประเภท คือ Momentum Investor และ Speculator
- Momentum Investor คือ เก็งกำไรตามภาวะเศรษฐกิจ และแนวโน้มของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม
- Speculator คือ เก็งกำไรโดยดูแนวโน้มราคา (และใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิค) ไม่สนใจปัจจัยพื้นฐาน
- แม้คุณกวีจะไม่ชอบการเก็งกำไร แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนทำเงินได้จากการเก็งกำไรจริงๆ (ถ้าคิดจะมาสายนี้ต้องฝึกฝนการวิเคราะห์ให้เชี่ยวชาญ)
- ข้อแนะนำสำหรับนักเก็งกำไร
- เก็งกำไรแล้วผิดพลาดต้องถอย อย่าฝืนถือยาว
- เก็งกำไรด้วยวินัย (stop loss / let profit run / take profit)
- อย่าเก็งกำไรอย่างบ้าคลั่ง
- เก็งกำไรด้วยเรื่องหรือเครื่องมืออะไร ก็ต้องขายด้วยสาเหตุนั้น
- นักลงทุน คือ ผู้ที่ตั้งใจถือหุ้นในระยะยาว (ถึงยาวมาก) ตามปัจจับพื้นฐานของบริษัท ถ้าบริษัทนั้นยังดีอยู่ ก็ถือต่อไปเรื่อยๆ
- นักลงทุน ก็แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ Value Investor และ Yield Investor
- Value Investor เน้นลงทุนในปัจจัยพื้นฐานและการเติบโตของบริษัท (หุ้น VI)
- Yield Investor เน้นลงทุนในบริษัทที่ให้ปันผลดีต่อเนื่องและสม่ำเสมอ (หุ้นห่านทองคำ)
- แม้ว่าทั้ง Value และ Yield จะคล้ายกัน แต่ถ้าไปดูหุ้นที่พวกเขาถือ ต่างกันพอสมควรเลยครับ
ปรับนิสัยก่อนลงทุน
- คุณสมบัติหรือนิสัยของนักลงทุนที่ดี สำคัญกว่า การค้นหาบริษัท/หุ้นที่ดี
- ไม่ต้องเก่งระดับเซียนก็ประสบความสำเร็จในการลงุทนได้
- ลงทุนอย่างมีความสุข – เมื่อเรามีความสุขจากการลงทุน เราจะหมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม
- เงิน 1 ล้านจะเป็นเท่าไรในอีก 30 ปีข้างหน้า? – ผลตอบแทน (%) ที่ต่างกัน ทำให้ผลลัพธ์ในอนาคตต่างกันมหาศาล (the power of exponential)
- จงศึกษาให้เก่ง และ กล้าที่จะตัดสินใจ
- มองโลกในแง่บวก (แต่ก็ต้องอยู่บนความเป็นจริง)
- อดทนต่อความล้มเหลวที่คุณอาจต้องประสบ
- อดทนรอโอกาสที่เหมาะสมในการลงทุน
- อดทนถือหุ้นในระยะยาว
- อย่าพยายามคาดการณ์ทิศทางของตลาด
- อย่าเชื่อคำแนะนำของผู้อื่น
- รักษาสุขภาพกายและใจให้แข็งแรง
6 ขั้นตอนสู่ความสำเร็จในการลงทุน
- เลือกบริษัทที่ดี
- เลือกหุ้นที่ดี (หุ้นของบริษัทที่ดี ในราคาที่เหมาะสม)
- กระจายความเสี่ยง ด้วยการลงทุนหุ้นในจำนวนที่เหมาะสม
- ติดตามผลการดำเนินงานของบริษัทที่เราลงทุน
- ลงทุนระยะยาว เพื่อลดความเสี่ยง
- ค้นหาหุ้นดีๆ อย่างต่อเนื่อง
ขั้นตอนที่ 1 – หาหุ้นบริษัทดีเข้าพอร์ต / คุณสมบัติของบริษัทที่ดี
- มีกำไรเติบโตสม่ำเสมอในระยะยาว
- มีอำนาจต่อรองกับลูกค้าได้สูง
- เป็นผู้นำในธุรกิจ
- ลงทุนในธุรกิจที่ถนัด
- มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง
- ไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนมากในอนาคต
- ไม่พึ่งพาลูกค้ารายใหญ่รายเดียวในการสร้างรายได้
- มีผู้บริหารมากฝีมือและธรรมาภิบาล
วิธีการหาบริษัทที่ดีไว้ลงทุนระยะยาว
- การวิเคราะห์งบการเงิน
- แม้ว่าบริษัทจะมีงบที่ดีแค่ไหน แต่ถ้าเราไม่เข้าลักษณะการดำเนินธุรกิจของบริษัทนั้น ก็ยังไม่ควรจะลงทุนในบริษัทที่เรายังไม่เข้าใจ
- งบการเงินประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ คือ งบดุล (สิ้นปีเหลือทรัพย์สิน/หนี้สินเท่าไร) งบกำไรขาดทุน (ปีนี้ขายของได้กำไรไหม) งบกระแสเงินสด (ปีนี้ใช้เงินไปกับอะไรบ้าง)
- สิ่งที่ยากคือการตีความ อัตราส่วนทางการเงิน
- เราจะดูตัวเลขอัตราส่วนทางการเงินย้อนหลังไป 10 ปี
- ** ปัจจุบันนี้ตัวเลขย้อนหลัง 10 ปี สามารถค้นหาง่ายๆ ได้ที่เว็บไซต์ https://www.finnomena.com/stock/CPALL ในช่องค้นหา สามารถพิมพ์ชื่อหุ้นที่เราสนใจไปได้เลยครับ
- วิเคราะห์งบกำไรขาดทุน
- วิเคราะห์กำไรสุทธิต่อหุ้น (Earning Per Share: EPS) ต้องมีตัวเลขที่เติบโตและมีความสม่ำเสมอในระยะยาว
- วิเคราะห์อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin: GPM) ต้องมีตัวเลขที่สม่ำเสมอในระยะยาว (ถ้าจะให้ดีควรเพิ่มขึ้น)
- วิเคราะห์ค่าใช้จ่ายต่อรายได้ ต้องมีตัวเลขที่สม่ำเสมอในระยะยาว (ถ้าจะให้ดีควรลดลง)
- วิเคราะห์อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin: GPM) ต้องมีตัวเลขที่สม่ำเสมอในระยะยาว (ถ้าจะให้ดีควรเพิ่มขึ้น)
- วิเคราะห์งบดุล
- หนี้สิน คือ สิ่งที่ไม่พึงประสงค์ของบริษัทที่ต้องการความมั่นคง
- วิเคราะห์อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุน (Debt/Equity: D/E) ควรมีค่าน้อย หรือถ้าเพิ่มขึ้นก็ต้องมาดูว่าเงินที่กู้เพิ่มมานั้น เอาไปลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าหรือไม่
- วิเคราะห์ผลตอบแทนต่อส่วนของเจ้าของ (Return on Equity: ROE) ควรมีค่าสูง มีความสม่ำเสมอ และถ้าจะให้ดีควรมีแนวโน้มเติบโตด้วย
- วิเคราะห์ผลตอบแทนเงินปันผล (Dividend Yield)
ขั้นตอนที่ 2 – ซื้อหุ้นเมื่อราคาถูก
- การซื้อหุ้นไม่เหมือนกับการซื้อสินค้า ห้ามใช้อารมณ์เหนือเหตุผล
- ราคาพื้นฐานของหุ้น (Value) และราคาในตลาด (Price) ไม่ใช่ราคาเดียวกัน
- วิเคราะห์อัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E – ดูค่า P/E เฉลี่ยย้อนหลัง / ดูค่า P/E ของบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกัน / ดูค่า P/E ของตลาด (SET)
- วิเคราะห์อัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (P/BV) – ในทางทฤษฎี หุ้นไม่ควรมีราคาเกิน P/BV = 1
แต่ในความเป็นจริงหุ้นหลายตัวก็มีราคาเกิน P/BV ไปหลายเท่า
แต่ถ้าคุณโชคดี เจอหุ้นที่ P/BV น้อยกว่า 1 มากๆ และเป็นหุ้นที่พื้นฐานดี เราก็จะได้ซื้อที่ราคาต่ำกว่าต้นทุน - ค่าบริษัทมีค่า ROE สูง หุ้นมีค่า P/E P/BV สูงด้วย ถือเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล
- หุ้นมีค่า ROE เท่าไร ก็ไม่ควรซื้อขายกันที่ P/E เกินค่า ROE
เช่น ROE = 20% ค่า P/E ก็ไม่ควรเกิน 20 เท่า
Notes: ถ้าใช้สูตรของ ดร.นิเวศน์ ค่า P/E ไม่ควรมีค่าเกิน %Growth of Profit (อัตราการเติบโตของผลกำไร)
Notes: ถ้าใช้สูตรของ Benjamin Graham เมื่อเราได้ราคาประเมินแล้ว ควรซื้อเมื่อราคาลดลงมาถึง 0.6 – 0.8 เท่าของราคาประเมินนั้น เพื่อให้มี Margin of Safety - จากประสบการณ์ของคุณกวี ถ้าค่า P/BV ต่ำกว่า ROE / 5 ถือว่าหุ้นมีราคาถูก
เช่น ROE = 20% ถ้า P/BV < 4 ถือว่าหุ้นมีราคาถูก - อย่าซื้อหุ้นเพียงเพราะแค่ชอบ ควรรอซื้อเมื่อราคาถูก เราจะได้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว
- เราสามารถซื้อหุ้นได้ก็ต่อเมื่อ
- หุ้นของบริษัทที่ดี และราคาถูก โอกาสได้กำไรสูง
- หุ้นของบริษัทที่ดี และราคาเหมาะสม โอกาสได้กำไรปานกลาง
- หุ้นของบริษัทที่ดี และราคาแพง โอกาสได้กำไรน้อยลง
ขั้นตอนที่ 3 – กระจายความเสี่ยง / ลงทุนหุ้นในจำนวนที่เหมาะสม
- ตามทฤษฎี การลงทุนมากกว่า 30 ตัวขึ้นไป สามารถลดความเสี่ยงได้
- แต่ในทางปฏิบัติ เราควรลงทุนแค่ 10-15 ตัว ก็เพียงพอที่จะลดความเสี่ยงได้แล้ว (อย่าลืมว่าต้องกระจายลงทุนในอุตสาหกรรมที่ต่างกันด้วยนะครับ)
ขั้นตอนที่ 4 – ติดตามผลการดำเนินงานของบริษัทที่เรานำเงินไปลงทุนอย่างต่อเนื่อง
- อัพเดตรายงานประจำปีของบริษัทที่เรานำเงินไปลงทุน
- อัพเดตผลการดำเนินงานรายไตรมาส
ขั้นตอนที่ 5 – ลงทุนระยะยาว ก็ลดความเสี่ยงได้แล้ว
- จากสถิติหากเราสามารถลงทุนได้นานพอ (มากกว่า 20 ปีขึ้นไป) ผลตอบแทนจะเป็นบวกเสมอ
ขั้นตอนที่ 6 – ศึกษาและค้นหาหุ้นดีอย่างต่อเนื่อง
- กลับไปทำตามขั้นตอนที่ 1-5 ไปเรื่อยๆ
ยอมรับข้อจำกัด / ลงทุนอย่างมีวินัย
- หากคิดว่าอ่านหนังสือการลงทุน การวิเคราะห์บริษัท การประเมินราคาหุ้น แล้วรู้สึกว่าเราไม่เข้าใจ เราไม่ชอบ ก็ไม่ต้องกังวลไปครับ เพราะปัจจุบันเราสามารถลงทุนในหุ้นได้ผ่านกองทุนรวมหุ้น ซึ่งเงินที่เรานำไปลงทุนจะได้รับการดูแลโดยผู้จัดการกองทุน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการลงทุนครับ
- ผลตอบแทนที่เราได้รับจากกองทุนรวมหุ้น จะได้ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของตลาดครับ (ซึ่งถือว่าใช้ได้เลยทีเดียว อย่างน้อยผลตอบแทนดีกว่าดอกเบี้ยเงินฝากแน่ๆ แต่บางช่วงเวลาเงินต้นอาจจะลดลงนะครับ)
- สำหรับกลยุทธ์ในการลงทุนกองทุนรวมคือ Dollar Cost Average: DCA ครับ คือ เราจะซื้อกองทุนรวมทุกเดือนในจำนวนเงินที่เท่าๆ กันไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องสนใจว่าตลาดหุ้นราคาจะขึ้นหรือลง วิธีนี้มีงานวิจัยมาแล้วครับว่า ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ไม่เลวร้ายแน่นอน
ทำอย่างไรให้มีเงินซื้อหุ้นตลอด
- แบ่งเงินบางส่วนไปลงทุนตราสารหนี้ (หรือไม่ก็เก็บเงินสดไว้บ้าง) แล้วปรับอัตราส่วน Weight การลงทุน ให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ
- มีทฤษฎีด้วยนะครับว่า วัฏจักรเศรษฐกิจช่วงไหน ควรลงทุนอะไร เท่าไร แต่จะไม่ขอลงรายละเอียดในที่นี้
สรุป
หนังสือเล่มนี้เหมาะกับผู้ที่สนใจการลงทุนแบบ VI และควรเป็นนักลงทุนที่พอมีพื้นฐานมาบ้าง เพราะเนื้อหากลางเล่มค่อนข้างวิชาการเลยทีเดียวครับ แต่ถ้าคุณอ่านเล่มนี้แล้วเข้าใจ คุณจะได้อีกหนึ่งวิธีการเลือกหุ้นที่เราสามารถจำไปใช้ได้ครับ
รายละเอียดหนังสือ
ชื่อหนังสือ | เพาะหุ้นเป็น เห็นผลยั่งยืน |
ผู้เขียน | กวี ชูกิจเกษม |
สำนักพิมพ์ | เนชั่นบุ๊คส์ |
ปีที่พิมพ์ | 2013 |