อื่นๆ

สรุปงาน National Coding Day 2023 @ Bitec Bangna

เมื่อวันเสาร์ที่ 18 และ อาทิตย์ที่ 19 ก.พ. 2566 ผมได้มีโอกาสไปเข้าร่วมงาน National Coding Day 2023 ที่ไบเทค บางนา – ผมจำได้ว่าจองบัตร Early Bird เพื่อเข้าร่วมงานเลย โดยภายในจะมีวิทยากรมาบรรยายที่ห้องต่างๆ ผู้ร่วมงานสนใจหัวข้อไหนก็สามารถเข้าไปนั่งฟังได้เลย

โดยต่อไปนี้จะเป็นสรุปสั้นๆ ของหัวข้อต่างๆ ที่ผมได้มีโอกาสไปนั่งฟังนะครับ / สำหรับหัวข้ออื่นๆ ที่ผมไม่ได้ไปฟังต้องขออภัยวิทยากรด้วยนะครับ

(บทความนี้ผมเขียนหลังจากไปงานแล้ว 1 เดือนกว่าๆ เนื่องจากติดงานเขียนโปรแกรม หากข้อมูลผิดพลาดต้องขอภัยด้วยนะครับ)

สำหรับงานวันแรก ผมเริ่มไปนั่งฟังตอนบ่ายครับ (เพราะตอนเช้ามีเรียนภาษาจีน) – เข้าไปฟังหัวข้อ อุปสรรคของ Startup ไทย (ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์) ได้แป๊บเดียว แต่ก็เป็นช่วงสรุปพอดี โดยปัญหาสำคัญของ Startup ไทย คือ ขาดแคลนเงินทุน และ ขาดแคลนบุคลากร

หัวข้อต่อมาเป็นการบอกเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับ Agile ณ องค์กรแห่งหนึ่ง … โดย อ.รูฟ ทวิร – คนมานั่งฟังยืนฟังล้นห้อง ถึงขั้นต้องนั่งพื้นฟังกันเลย – อ.รูฟ เล่าเรื่อง (storytelling) ได้สนุกและน่าสนใจมากๆ หากใครมีโอกาส อยากให้ไปลองฟังอาจารย์บรรยายสักครั้งครับ

Low Code จะทำให้โปรแกรมเมอร์ตกงานหรือไม่? (คุณปนายุ) – Low Code ไม่ทำให้โปรแกรมเมอร์ตกงาน (เพราะในปัจจุบัน Low Code ยังเขียนโปรแกรมที่ซับซ้อนมากๆ ไม่ได้) – Low Code จะเป็นตัวช่วยให้คนที่เขียนโค้ดไม่เป็น สร้างโปรแกรมแบบง่ายๆ ขึ้นมาได้

RPA (Robotic Process Automation) อ.ชไลเวท / คุณบุญทวี / คุณสันทัด – ตอนแรกผมนึกว่าหัวข้อนี้จะเกียวกับหุ่นยนต์ แต่จริงๆ แล้ว พูดถึงการทำให้กระบวนการต่างๆ เป็นอัตโนมัติ โดยไม่ต้องใช้มนุษย์ เช่น ขั้นตอนการโหลดไฟล์เอกสารจากอีเมล แล้วนำไปอัพโหลดเข้าโฟลเดอร์ที่ระบุ ซึ่งกระบวนการนี้ เราสามารถเขียน Automation มาทำงานแทนเราได้

แนะนำ Kubernetes (Google) คุณนัทที

หัวข้อสุดท้ายเป็น Cloud Native Trend 2023 คุณสฤษรัตน์ (ผมชอบหัวข้อนี้มาก)

เริ่มงานวันที่สอง – หัวข้อแรกคือ WordPress (คุณจักรกฤษณ์) เทคโนโลยีเก่า based on PHP แต่ก็ยังใช้งานได้ดีในปัจจุบัน (WordPress เป็น CMS หรือตัวช่วยในการสร้าง Blog ภายในเวลาไม่กี่นาที รวมถึงสามารถทำ E-Commerce อย่างง่ายได้ด้วย)

ผมชอบเทคโนโลยีใหม่ๆ และพยายามศึกษาเรื่องใหม่ๆ อยู่ตลอด แต่บางครั้งเทคโนโลยีดั้งเดิม ที่สามารถทำงานได้ดีอยู่แล้ว เราก็สามารถใช้เทคโนโลยีนั้นต่อไปได้ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่ – เพียงแค่เราต้องรู้จักเทคโนโลยีที่เรามีและข้อจำกัดต่างๆ ของสิ่งที่เราจะนำมาใช้

ต่อมาผมไปนั่งฟังเกี่ยวกับ LINE Developer นิดหน่อย – สังเกตว่าในบริษัทใหญ่ๆ รวมถึงบริษัทเล็กๆ มีสงครามแย่งชิง Developers / Programmers อยู่เรื่อยๆ รวมถึงการสร้าง Developer Community ก็เป็นสิ่งที่หลายบริษัทกำลังทำอยู่เช่นกัน

การสร้าง Hybrid App ด้วย Flutter (Google) คุณกฤษดา / คุณอนิรุทธ์ – สำหรับใครที่ไม่รู้จัก Flutter มันเป็นตัวช่วยที่ทำให้เราเขียนโปรแกรมแค่ครั้งเดียว (โค้ดชุดเดียว) แต่สามารถสร้างแอพ iOS, Android, Website, PC ได้เลย – โดยวิทยากรได้แนะนำว่าเราสามารถสร้างเกมส์ด้วย Flutter ได้ด้วย (แต่ส่วนตัวผมยังไม่ค่อยเห็นคนใช้ Flutter สร้างเกมส์ขึ้น production มากนัก)

การเขียนโปรแกรมสำหรับดาวเทียม คุณณัฐนนท์

GoLang และ Optimization – คุณธนทัต / คุณสิรภัทร / คุณธนพวรรณ / คุณชลธี

แนะนำโครงการ Google Developer Expert (GDE) และ Woman Tech Maker (WTM) – คุณกมลพรรณ

โครงสร้างการทำงานภายในของ KBTG – คุณทัศพล / คุณทัดพงศ์ / คุณจิรัฏฐ์

และหัวข้อสุดท้าย Cyber Security คุณอัมฤทธิ์ Secure-D – หัวข้อนี้ผมก็ชอบมาก เพราะวิทยากรเล่าเนื้อหาแบบจัดเต็ม เหมือนนั่งเล็คเชอร์ Cyber Security 101 เลย – ถ้าจำไม่ผิดจากที่ผมเคยเรียน Security ของ Microsoft จะมี concept: Defense-in-Depth คือ ป้องกันการโจมตีในทุกๆ ชั้นของ Network และ concept: Reduce Attacking Surfaces คือ ลดช่องทางการโจมตีให้น้อยที่สุด

สำหรับรูปแบบการโจมตีพื้นฐานที่ควรรู้และป้องกัน คือ

  • Mis-configuration
  • Improper Access Control & Weak Password
  • Vulnerable Components
  • Unauthorized & Broken Access Control
  • SQL injection
  • File Upload Vulnerability
  • Source Code & Credential Leak (Github)
  • Insecure Deployment

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *