รีวีวหนังสือ – The Little Book of IKIGAI : The Essential Japanese Way to Finding Your Purpose in Life
เย็นวันหนึ่งหลังเลิกงานที่แสนจะเหนื่อยล้า ผมตั้งใจไปที่ร้านหนังสือเจ้าประจำเพื่อหาซื้อนิยายออกใหม่เล่มหนึ่ง เมื่อได้นิยายที่ต้องการแล้ว ก่อนถึงเคาน์เตอร์ชำระเงิน ผมก็บังเอิญไปสะดุดตากับหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า The Little Book of IKIGAI …
ก่อนหน้านี้ผมเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับ IKIGAI มาบ้างแล้ว แต่ผมรู้สึกว่าหนังสือเล่มนั้นยังสนองความต้องการใคร่รู้เกี่ยวกับ IKIGAI ของผมไม่มากพอ ดังนั้นเมื่อผมได้เจอกับหนังสือเล่มนี้ ผมจึงหยิบไปจ่ายเงินเพื่อกลับมาอ่านต่อที่บ้านอย่างไม่ลังเล
และนี่คือที่มาของหนังสือที่ผมจะมาเล่าให้ฟังกันในวันนี้ครับ
หนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับอะไร
หนังสือเล่มนี้เขียนโดยชาวญี่ปุ่น อธิบายแนวคิด IKIGAI ไว้ดีมาก ซึ่งมีหลักสำคัญ 5 ประการ คือ
- เริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ
- เป็นตัวของตัวเอง
- เน้นความยั่งยืน และ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ
- มีความสุขกับสิ่งเล็กๆ
- อยู่กับปัจจุบัน
IKIGAI (生き甲斐) เป็นภาษาญี่ปุ่น เกิดจากการรวมกันของ 2 คำ คือ
- IKI (生き) แปลว่า ชีวิต
- GAI (甲斐) แปลว่า เหตุผล / ผลลัพธ์ / คุณค่า
เมื่อนำ 2 คำนี้มารวมกัน IKIGAI จึงหมายถึง เหตุผลที่เรามีชิวิตอยู่ / คุณค่าในชิวตของเรา
หนังสือเล่มนี้แตกต่างจากหนังสือเล่มก่อนหน้าที่ผมเคยอ่าน (IKIGAI : The Japanese Secret to a Long and Happy Life) แต่งโดยชาวยุโรป ซึ่งจะให้มุมมองของชาวต่างชาติที่มีต่อแนวคิด IKIGAI และหนังสือเล่มนั้นเล่าเรื่องเหมือนชาวต่างชาติไปเที่ยวแล้วชื่นยชอบวัฒนธรรมญี่ปุ่นเสียมากกว่า
เนื้อหาโดยสังเขป
หนังสือเล่มนี้มี ประมาณ 190 หน้า ประกอบด้วย 10 บท ได้แก่ (อธิบายเนื้อหาในแต่ละบทคร่าวๆ ไปด้วยเลยนะครับ)
* ชื่อบทในหนังสือเป็นภาษาอังกฤษ แต่ผมขอแปลเป็นภาษาไทยเพื่อให้อ่านเข้าใจง่ายนะครับ
- บทที่ 1 – IKIGAI คืออะไร
- บทที่ 2 – เหตุผลที่คุณตื่นขึ้นมาในทุกๆ เช้า
- บทที่ 3 – Kodawari และประโยชน์ของการคิดเล็กๆ
- บทที่ 4 – ความสวยงามของ IKIGAI
- บทที่ 5 – Flow และ ความคิดสร้างสรรค์
- บทที่ 6 – IKIGAI และ ความยั่งยืน
- บทที่ 7 – ค้นหาเป้าหมายในชีวิต
- บทที่ 8 – อะไรที่ฆ่าคุณไม่ตาย จะทำให้คุณแกร่งขึ้น
- บทที่ 9 – IKIGAI และ ความสุข
- บทที่ 10 – ยอมรับในสิ่งที่คุณเป็น
สิ่งที่ผมชอบอย่างหนึ่งในหนังสือเล่มนี้คือ ในแต่ละบทจะสอดแทรกเรื่องราวที่น่าประทับใจให้เราได้อ่านกันด้วยครับ เช่น
- พ่อครัวซูชิ และ นักขายปลา
- ช่างทำถ้วยชาม ที่สืบทอดกันมาถึงรุ่นที่ 9
- หญิงรับใช้ ผู้สังเกตสิ่งรอบตัว จนเขียนเป็นหนังสือ The Pillow Book
- ผู้ก่อตั้ง Studio Ghibli กับความสุขในการทำงานในทุกๆ วัน
(ผมสังเกตว่าหนังสือเล่มไหนก็ตาม ที่กล่าวถึงงานอนิเมะจากญี่ปุ่น จะไม่กล่าวถึง Studio Ghibli คงเป็นไปไม่ได้) - วัดแห่งหนึ่งที่จะต้องบูรณะทุกๆ 20 ปี แม้ฟังดูจะเป็นเรื่องที่ฟุ่มเฟือยเงินทองและเสียเวลา หากแต่แฝงไปด้วยแนวคิดที่จะสืบทอดงานศิลปะและการก่อสร้างให้แก่ลูกหลายสืบไป
- ความพยายามที่เท่ากันของนักซูโม่ แต่ทำไมผลลัพธ์ถึงแตกต่างกัน
- งาน Comiket เป็นงานที่เปิดให้นักวาดมังงะ (การ์ตูน) มือสมัครเล่นได้มาขายมังงะของตัวเอง และก็จะมีเหล่าโอตาคุ (แฟนการ์ตูน) จำนวนมากมาหาซื้อมังงะที่ตนเองชอบ นอกจากนี้ยังมีนักคอสเพลย์มาสร้างสีสันให้กับงานนี้ด้วย แม้ว่าพวกเขาจะดูแปลกประหลาดในสายตาผู้อื่น แต่สิ่งที่พวกเขามีเหมือนกัน ก็คือความชอบในสิ่งที่รัก แม้จะเป็นพื้นที่เล็กๆ แต่พื้นที่เล็กๆ นี้ก็ทำให้ชีวิตของคนๆ หนึ่งมีความสุขได้อย่างไม่น่าเชื่อ (ผมเพิ่งเคยเห็นหนังสือแนวปรัชญายกตัวอย่างงาน Comiket ก็เล่มนี้ละครับ)
แนวคิดที่น่าสนใจจากหนังสือเล่มนี้
ผมชอบเนื้อหาใน บทที่ 3 และ บทที่ 7 มากเป็นพิเศษครับ
บทที่ 3 เล่าถึง ช่างปั้นดินเผาที่สืบทอดการทำถ้วยชามมากว่า 9 รุ่น เขา(และบรรพบุรุษ)ตั้งใจที่จะสร้าง Yohen Tenmoku ถ้วยชาในตำนานขึ้นมากอีกครั้ง
Yohen Tenmoku เป็นถ้วยชาถูกสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 13 ในประเทศจีน และปัจจุบันมีเหลือแค่ 3 ชิ้นเท่านั้น (ถ้วยใบนี้สวยขนาดไหน ดูได้ที่รูปประกอบด้านล่างครับ)
ด้วยความพยายามกว่าหลายสิบปี และการทดลองกว่าหลายพันครั้ง…
เขาก็ยังไม่สามารถสร้าง Yohen Tenmoku ที่เหมือนกับของจริงได้ แม้ว่าจะน่าผิดหวัง แต่พวกเขาก็ยังพยายามทำสิ่งนี้ต่อไป เพราะการได้พยายามสร้าง Yohen Tenmoku ขึ้นมาอีกครั้ง คือเป้าหมายในชีวิตของเขา
บทที่ 7 เล่าถึง ซูโม่ กีฬามวยปล้ำของญี่ปุ่น ซึ่งหลายคนอาจจะไม่รู้ว่ามีระบบ Ranking ด้วย ผู้เขียนได้ไปพูดคุยกับนักซูโม่ 3 คน
คนแรกเป็นนักซูโม่อันดับต้นๆ (ถ้าผมจำไม่ผิด น่าจะอันดับ 7) เขาพยายามฝึกฝนตนเองให้เก่งกว่าเดิม เพื่อที่จะขึ้นเป็นอันดับ 1 ให้ได้ แน่นอนว่าเขามีความสุขทุกครั้งที่ได้เล่นซูโม่
คนที่สองเป็นนักซูโม่อันดับกลางๆ (ชนะ 50% แพ้ 50%) และตอนนี้อายุของเขาก็เข้าใกล้วัยที่จะต้องเลิกเล่นซูโม่แล้ว แต่เขาก็มีความสุขทุกครั้งที่ได้เล่นซูโม่
คนที่สามเป็นนักซูโม่ท้ายตาราง (ชนะ 2 แพ้ 100 กว่าครั้ง) เขาอายุยังน้อยและยังมีเวลาให้ฝึกฝน ซึ่งแน่นอนว่าเขาเลือกที่จะพยายามต่อไป เพราะเขามีความสุขทุกครั้งที่ได้เล่นซูโม่
ความประทับใจกับหนังสือเล่มนี้
ผมชอบสไตล์การเล่าเรื่องแบบญี่ปุ่น คือ ในแต่ละบท ผู้เขียนจะมีการเล่าเรื่องก่อน (ยกตัวอย่างเรื่องราวในชีวิตจริง) แล้วค่อยโยงเข้าสู่แนวคิดที่ต้องการนำเสนอ และเนื้อหาในแต่ละบทก็เชื่อมต่อกัน ให้ความรู้สึกเหมือนอ่านนิยาย / ดูอนิเมะของญี่ปุ่นเลยครับ
IKIGAI ไม่ใช่แค่แผนภาพวงกลม 4 วงซ้อนกัน ตามที่เราเคยเห็นกันเท่านั้น แต่มันคือแนวคิดในการใช้ชีวิตอย่างมีความหมายและมีความสุขครับ 🙂
หนังสือเล่มนี้ผมให้ 5 / 5 ดาว (ควรอ่านเป็นอย่างยิ่ง)
หมายเหตุ: ผมเคยเห็นจากเว็บไซต์ว่ามีสำนักพิมพ์ไทยแปลหนังสือเล่มนี้จำหน่ายด้วย แต่ผมยังไม่เคยอ่าน จึงไม่ทราบว่าฉบับแปลไทยเป็นอย่างไรบ้างนะครับ
รายละเอียดหนังสือ
ชื่อหนังสือ | The Little Book of IKIGAI : The Essential Japanese Way to Finding Your Purpose in Life |
ประเภท | หนังสือภาษาอังกฤษ, พัฒนาตนเอง, ปรัชญา |
ผู้เขียน | Ken Mogi |
สำนักพิมพ์ | Quercus Books (UK) |
ปีที่พิมพ์ | 2017 |