รีวิวหนังสือ – The Power of Meaning – อะไรทำให้ชีวิตคนเรามีความหมาย
หนังสือ The Power of Meaning (อะไรทำให้ชีวิตคนเรามีความหมาย) เล่มนี้จะพาคุณเดินทางไปค้นหาความหมายของชีวิต ผ่านการเดินทางไปทั่วอเมริกาของผู้เขียน ไปพบกับผู้คน งานวิจัย กิจกรรม และสถานที่ต่างๆ
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือแนวปรัชญาว่าด้วยการค้นหาความหมายของชีวิต หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาเข้มข้นและผ่านการตรวจสอบอ้างอิงมาเป็นอย่างดี ถ้าใครไม่ชอบหนังสือแนวปรัชญา อ่านไปสักพักแล้วอาจจะเบื่อได้ แต่ถ้าใครชอบหนังสือแนวปรัชญา แนะนำเล่มนี้เลยครับ
เนื้อหาโดยสังเขป
หนังสือ The Power of Meaning อะไรทำให้ชีวิตคนเรามีความหมาย เล่มนี้ มีทั้งหมด 303 หน้า แบ่งเป็น 8 บท (แต่ละบทยาว 30 กว่าหน้า อันแน่นไปด้วยเนื้อหา ไม่มีรูปภาพเลย) ดังนี้ครับ
- บทนำ
- บทที่ 1 วิกฤตความหมาย
- บทที่ 2 ความผูกพัน
- บทที่ 3 จุดมุ่งหมาย
- บทที่ 4 การเล่าเรื่อง
- บทที่ 5 การข้ามพ้นตัวตน
- บทที่ 6 วัฒนาธรรมแห่งความหมาย
- บทสรุป
แนวคิดที่น่าสนใจจากหนังสือเล่มนี้
สิ่งสำคัญที่ทำให้ชีวิตมีความหมายมี 4 อย่าง
- ความผูกพัน (Belonging)
- จุดมุ่งหมาย (Purpose)
- การเล่าเรื่อง (Storytelling)
- การข้ามพ้นตัวตน (Transcendence)
หนังสือเล่มนี้เริ่มต้นเรื่องราวด้วยชีวิตและครอบครัวของผู้เขียนเอง บอกเล่าว่าในสมัยก่อนคนเราอาจไม่ต้องคิดถึงเรื่องความหมายของชีวิตมากนัก เพราะมักจะสืบทอดสิ่งต่างๆ จากครอบครัว เช่น ลูกเกษตรกรก็จะสืบทอดอาชีพต่อ หรือ ลูกช่างฝีมือก็จะสืบทอดองค์ความรู้ต่อ เป็นต้น รวมถึงเรื่องศาสนาก็มักจะนับถือสิ่งเดียวกับที่ครอบครัวนับถือสืบต่อกันมา แต่ในปัจจุบันคนเรามีอิสระในการใช้ชีวิตและเลือกอาชีพมากขึ้น ดังนั้นการค้นหาความหมายของชีวิตจึงมีความสำคัญมากขึ้นกว่าอดีต
หนังสือมีการพูดถึงงานวิจัยกลุ่มเด็กทารกแรกเกิดในสถานรับเลี้ยงเด็ก (เมื่อ 50 ปีที่แล้ว) ผู้วิจัยสังเกตเห็นเหล่าเด็กๆ ไม่ร่าเริงเหมือนเด็กๆ ที่ได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ ผู้วิจัยจึงทดลองนำเด็กทารกที่มีพ่อแม่ดูแลไปยังสถานรับเลี้ยง ผลปรากฏว่าในช่วงสัปดาห์แรก เด็กคนนี้ยังมีอาการร่าเริง แต่เมื่อผ่านไป 1 สัปดาห์ เด็กเริ่มมีอาการเซื่องซึมไม่ร่าเริงเหมือนเมื่อก่อน ผู้วิจัยสรุปว่าการดูแลเอาใจใส่และการได้รับความรักจากพ่อแม่ (และผู้ดูแลเด็ก) ส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกและพัฒนาการของเด็ก และนั่นก็เป็นที่มาของความรักและความผูกพัน
อีกงานวิจัยหนึ่งได้เชิญชวนให้เด็กวัยรุ่นระดับมหาวิทยาลัยได้เข้าร่วมกิจกรรมทดสอบ กลุ่มแรกทำกิจกรรมเพื่อความสุขของตนเอง กลุ่มสองทำกิจกรรมเพื่อผู้อื่น หลังจบกิจกรรมนักศึกษากลุ่มแรกพบว่าตนเองรู้สึกมีความสุขมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และนักศึกษากลุ่มสองพบว่าตนเองรู้สึกมีความสุขเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่หลังจากนั้นอีก 3 เดือน ผู้วิจัยพบว่านักศึกษากลุ่มแรกรู้สึกเฉยๆ เมื่อมองย้อนกลับไปในกิจกรรมที่ทำเมื่อ 3 เดือนที่แล้ว ส่วนนักศึกษากลุ่มสองรู้สึกมีความสุข เมื่อมองย้อนกลับไปในกิจกรรมที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น นั่นแสดงให้เห็นว่า การแสวงหาความสุขส่วนตนมีผลต่อเราแค่ในระยะสั้น แต่การทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นนั้นส่งผลต่อความสุขของเราในระยะยาว
ในตอนท้ายของหนังสือผู้เขียนเล่าถึงหมอคนหนึ่งที่ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (ผู้ป่วยที่ใกล้เสียชีวิต) เขาพบว่าสามารถแบ่งผู้ป่วยได้เป็น 2 ประเภท คือ ประเภทแรก (ส่วนใหญ่) หมดความหวังในการใช้ชีวิตและอยากตายเร็วๆ ประเภทสอง (ส่วนน้อย) ยังมีความหวังในการใช้ชีวิตและมีกำลังใจที่จะสู้โรคร้ายต่อไป หมอคนนี้พบว่าผู้ป่วยที่มีเป้าหมายในชีวิตมีแนวโน้มที่จะมีชีวิตได้ยืนยาวกว่าผู้ป่วยที่หมดสิ้นเป้าหมายในชีวิตแล้ว นอกจากนี้เขายังคุยกับผู้ป่วยเหล่านั้นด้วย และพบว่าสิ่งที่เสียใจที่สุดในชีวิตของพวกเขา คือ การไม่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากจะทำ (แต่ก็คงไม่ได้ทำมันอีกแล้ว)
ความประทับใจกับหนังสือเล่มนี้
หนังสือเล่มนี้รวบรวมเนื้อหาและเรียบเรียงเรื่องราวมาเป็นอย่างดี มีการสัมภาษณ์ผู้คนอย่างเจาะลึกและเดินทางไปเยือนสถานที่ต่างๆ จริง ส่วนงานวิจัยที่ใช้อ้างอิงก็ดูน่าเชื่อถือ
หนังสือเล่มนี้อันแน่นไปด้วยเนื้อหา (ไม่มีรูปภาพ) น่าจะถูกใจสำหรับคนที่ชอบเนื้อหาเน้นๆ แบบผม แต่ถ้าใครไม่ชอบหนังสือเนื้อหาเยอะหรือแนวปรัชญา ก็อาจจะรู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้อ่านยากและน่าเบื่อได้
เมื่อผมอ่านหนังสือเล่มนี้จบ ผมสัมผัสได้ถึงพลังชีวิตด้านบวกหลั่งไหลเข้ามาในตัวผมเลย
คะแนน 9 / 10
รายละเอียดหนังสือ
ชื่อหนังสือ | The Power of Meaning
อะไรทำให้ชีวิตคนเรามีความหมาย |
ประเภท | ปรัชญา, พัฒนาตนเอง |
ผู้เขียน | Emily Esfahani Smith |
ผู้แปล | อรวรรณ คูหเจริญ นาวายุทธ |
สำนักพิมพ์ | OMG Books |
ปีที่พิมพ์ | ต้นฉบับ 2017 / แปลไทย 2017 |
ปล. ผู้เขียนเคยพูดในงาน TED Talk ด้วย สามารถไปฟังกันได้ครับ
There’s more to life than being happy (2017)